องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น :www.banthan.go.th

 
 
ประวัติและความเป็นมา

ประวัติบ้านแท่น

     บ้านแท่นเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ของอำเภอชนบท  สันนิษฐานว่าเคยเป็นชุมชนขอมในอดีต จากหลักฐานที่พบเห็นคือพระแท่นสององค์ ซึ่งมีการสลักภาษาขอมลงที่รอบองค์แท่น ลักษณะคล้ายแท่นวางพระศิวลึงค์ในความเชื่อศาสนาพรหมณ์หรือวางพระพุทธรูปในพุทธมหายาน มีการตรวจค่าหินจากนักธรณีวิทยาพบว่ามีอายุกว่า 700 ปี ก่อนตั้งเมืองชนบท มีการพบหินศิลาแลงตั้งวางตามทิศต่างๆ ลักษณะคล้ายกู่ ซึ่งแสดงถึงอารยธรรมแบบขอม และมีประวัติความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับเมืองชนบทในยุคกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ ครั้งสมัยตั้งเมือง ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุแห่งชาติ ระบุว่าชาวอำเภอชนบทนั้นอพยพมาจากนครหลวงเวียงจันทร์ประเทศลาว เดินทางข้ามแม่น้ำโขงฝั่งขวาโดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิร้อยเอ็ดก่อน แล้วอพยพมาอยู่ที่บ้านเมืองเพีย และย้ายมาที่หนองกองแก้วชนบท โดยมีพยาเมืองแสน หรือท้าวเพียเมืองแสน อีกชื่อเดิมคือท้าวคำพาว ตำแหน่งพระจันทรประเทศ สมุหกลาโหมเมืองสุวรรณภูมิและไพร่พล เดินทางมาอยู่ที่หนองกองแก้ว มาสร้างเมืองชนบท ในปี 2526 ก่อนตั้งเมืองขอนแก่น และมีชาวชนบทส่วนหนึ่งข้ามาอยู่อาศัยร่วมกับชาวชุมชนเดิมของบ้านแท่น ซึ่งที่ตั้งบ้านแท่นเป็นทางผ่าน ที่ข้าหลวงจากมณฑลอุดรและเมืองชนบท ใช้เป็นเส้นทางเพื่อส่งเครื่องราชแก่เมืองหลวง บ้านแท่นจึงรับอิทธิพลมาจากเมืองชนบท จากหลักฐานจากต้นตระกูลวรแสนซึ่งเป็นตระกูลเชื้อสายของท้าวเพียเมืองแสน จากนครหลวงเวียงจันทร์ รวบรวมไพร่พลตั้งเป็นชุมชน บ้านแท่นได้ขึ้นกับอำเภอชนบทก่อนปี 2361 เคยมีพื้นที่อาณาเขตปกครองกว่าครึ่งหนึ่งของอำเภอชนบท เหตุที่ชื่อบ้านแท่นเพราะ ที่ตั้งหมู่บ้านมีพระแท่น ตั้งอยู่ที่บริเวณโนนบ้านเก่า ชาวบ้านเล่าว่าเกิดมาก็พบเจอเลย โดยรอบพระแท่นมีหินลักษณะคล้ายพัทธสีมาตั้งทั้ง 8 ทิศ  มีกู่คล้ายเจดีย์ตั้งอยุ่ทางทิศตะวันออกของแท่น ที่ฐานแท่นมีพระพุทธรูปสามองค์  สันนิษฐานว่าเป็นวัดมาแต่เดิม ชาวบ้านเรียกว่าวัดป่าบ้านแท่น ต่อมาจึงใช้ชื่อวัดป่าบัลลังก์ศิลาทิพย์ บริเวณกู่เจดีย์ทิศตะวันออกจึงสร้างเป็นศาลปู่ตา บริเวณแท่นและพัทธสีมาได้สร้างเป็นพระอุโบสถสิมครอบองค์เดิมโดยไม่มีการเคลื่อนย้าย หลังคาเดิมมุงหญ้าคา ต่อมามีการสร้างพระใหญ่โดยพระและชาวบ้าน ทำให้ผู้คนหลายหมู่บ้านได้มาอุปสมบท  ในพ.ศ.2492 หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต ได้มาจำพรรษา1พรรษา ติดกันบริเวณวัดฝั่งทิศใต้หน้าวัดป่าเป็นที่ตั้งเดิมของหมู่บ้านแท่นเรียกโนนบ้านเก่า มีการขุดพบถ้วยชามไหสมัยเก่า ปัจจุบันยังพบอยู่ ส่วนนึงนำฝังไว้ที่ใต้พระอุโบสถ (บือโบสถ์) พื้นบริเวณติดริมฝั่งหนองทุ่มเรียกโนนเก่าขามหรือโนนกกขาม เยื้องขึ้นมาติดกันคือโนนหลวงพ่อนกเขา(สถานที่ตั้งอบต.) ต่อมาช่วงหนึ่งเกิดอาเพศมีเกิดโรคระบาด ผู้คนเสียชีวิตติดต่อกัน และอีกฝั่งเกิดน้ำห้วยล้นขึ้นมาท่วม  จึงเกิดการอพยพครั้งใหญ่ลงมาทางทิศใต้หรือที่ตั้งบ้านในปัจจุบัน และมีอีกส่วนที่อพยพไปตั้งหมู่บ้านใหม่ ได้แก่บ้านบ้านโนนแดงน้อย บ้านโคกกลาง บ้านหัวฝาย บ้านหนองแวงนางเบ้า บ้านหนองยายเกลี้ยง  บ้านห้วยไผ่ และอีกหลายหมู่บ้าน ทำให้ประชากรบ้านแท่นลดจำนวนลงมาก จนถึงสมัยมีการตั้งผู้นำ ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านแท่นคือนายเสือไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก สมัยนั้นตำบลบ้านแท่นปกครองมากกว่า 24 หมู่บ้านในเขตอำเภอชนบท ภายหลังพื้นที่ตำบลบ้านแท่นมีขนาดใหญ่ ทางการจึงได้ขยายการปกครองโดยแยกออกไปตั้งเป็นตำบลเป็น 4 ตำบล
    ก่อน พ.ศ.2512 พื้นที่ทางทิศตะวันตกแยกออกจากตำบลบ้านแท่น ขึ้นเป็นตำบลวังแสง
     พ.ศ.2512 พื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้แยกออกจากตำบลบ้านแท่น ขึ้นเป็นตำบลห้วยแกจำนวน 8 หมู่บ้าน   
     พ.ศ.2517 พื้นที่ทางทิศใต้แยกออกจากตำบลบ้านแท่น ขึ้นเป็นตำบลปอแดงจำนวน 10 หมู่บ้าน
     พ.ศ.2512 มีนายวิรัตน์ สีทอง ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลบ้านแท่น มีนายสมนึก แก้วสุพรรณ์ ดำรงตำแหน่งสารวัตรกำนัน หมู่บ้านยังมีขนาดใหญ่ กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้แบ่งหมู่บ้านเพิ่มจากบ้านแท่น จึงเกิดการปรึกษากันแบ่งฝั่งตะวันออกเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้าน มีการเสนอชื่อหมู่บ้านหลายชื่อ ได้แก่บ้านโนนจำปี โนนปาภา ซึ่งเป็นชื่อของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ฝ่าย ผู้ใหญ่สุข คุณพู่ ผู้ใหญ่บ้านบ้านหัวฝาย จึงเสนอชื่อว่า บ้านโนนสมนึก มาจากชื่อผู้เป็นสารวัตรกำนันและเป็นผู้ก่อตั้งและพัฒนาหมู่บ้าน จึงได้ชื่อบ้านโนนสมนึก เป็นหมู่บ้านลูกที่แยกออกจากบ้านแท่น ซึ่งแต่เดิมนั้นตั้งเลขที่บ้านใหม่ ผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายกีม ราวี บ้านเลขที่ 1 มีการตัดถนนใหม่ และแบ่งการปกครองต่อมา
    ปี 2535 นายมนต์ชัย ดวงสว่าง  ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลบ้านแท่น   เกิดการแยกหมู่บ้านอีก 1 หมู่บ้าน คือฝั่งตะวันตกของบ้านติดหนองทุ่มเป็นบ้านนาหนองทุ่ม  ทำให้บ้านแท่นถูกแบ่งเป็น 3 หมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน

แหล่งข้อมูล   คุณยายนาง วรแสน (นามสกุลเชื้อสายเจ้าเมืองชนบท ท้าวเพียเมืองแสน ) คุณยายเป็นภรรยาของผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้น (คุณยายอายุ 102ปี)
คุณตาสมนึก  แก้วสุพรรณ์  คุณตาสมเรื่องแก้วสุพรรณ์  คุณยายบัวลอง แก้วสุพรรณ์ คุณยายสำราญ แก้วสุพรรณ์  นายวิเชียร สินโพธิ์  นายสุบรรณ์ ยะหล่อม
คุณตาสมาท ลุนบง (หนังสือบันทึกประวัติศาสตร์อำเภอชนบท โดยสนอง คลังพระศรีปี 2549)



พระแท่นศิลาบัลลังก์งามล้ำ  อารธรรมขอมโบราณ โนนเมืองบ้านเก่าทรงคุณค่า ธรรมศรัทธาองค์หลวงปู่ผางค์